มารู้จักกับเกียร์รถยนต์ 4 แบบ ที่จะต้องเจอในยุคปัจจุบัน

         เมื่อพูดถึงเรื่อง “เกียร์” หรือระบบส่งกำลังของรถยนต์ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รถขับเคลื่อนได้ หลายคนอาจให้ความสนใจแค่ว่ามันเป็นแค่เกียร์ธรรมดาหรืออัตโนมัติเท่านั้นโดยไม่มีความจำเป็นจะต้องรู้ลึกมากไปกว่านี้ตราบเท่าที่มันใช้งานได้ดีไม่มีปัญหาทำไมชีวิตจะต้องยุ่งยากซึ่งอันที่จริงก็มีส่วนถูก

แต่ถ้าคุณรู้จักเกียร์ในรถยนต์มากขึ้นอีกนิดก็จะช่วยให้เข้าใจหรือเลือกใช้งานของระบบส่งกำลังที่เรียกว่า “เกียร์” ได้อย่างเข้าใจมากขึ้นด้วย​ ที่ขออธิบายไว้แบบคร่าว ๆ พอให้คุยกับเขาได้รู้เรื่องมากขึ้นบ้างว่าเกียร์ของรถคุณเป็นแบบไหนและดีอย่างไร

เกียร์ธรรมดา

เกียร์ธรรมดา

เกียร์ธรรมดาเป็นรูปแบบเกียร์ที่เรียบง่ายและเก่าแก่มากที่สุดส่วนหลักการทำงานคร่าว ๆ นั้นจะมีชุดคลัทช์เป็นตัวตัดต่อกำลังจากเครื่องยนต์กับชุดเกียร์โดยการเหยียบ-ปล่อยแป้นคลัทช์เมื่อต้องการเปลี่ยนจังหวะเกียร์ผ่านคันเกียร์ ซึ่งประกอบด้วยชุดเฟืองที่มีอัตราทดต่างกันสำหรับจังหวะเกียร์ต่าง ๆ นอกจากนี้ยังจะมีซิงโครเมช (Synchromesh) คอยทำหน้าที่ช่วยปรับความเร็วของเฟืองชุดต่อไป (เช่น จากเกียร์ 1 ไป 2 หรือเกียร์ 2 ไป 3 เป็นต้น) เท่า ๆ กันทั้งสองเฟืองเสียก่อน

สำหรับนักขับมือใหม่ปัจจุบันอาจมองว่าการใช้เกียร์ธรรมดาเป็นเรื่องยุ่งยาก แต่ข้อดีคือด้วยกลไกที่เรียบง่ายทำให้การซ่อมบำรุงได้ไม่ยากหากมีความเสียหายรวมถึงยังมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าเกียร์รูปแบบอื่น ๆ และก็มีคนที่ยังหลงรักเกียร์รูปแบบนี้อยู่ไม่น้อย

 

เกียร์อัตโนมัติ

เกียร์อัตโนมัติ

  รูปแบบเกียร์ที่ได้รับความนิยมแพร่หลายมากที่สุดในปัจจุบันเพราะสบายกว่าเกียร์ธรรมดามากโดยเฉพาะเมื่อต้องขับขี่ในเมืองรวมถึงไม่ต้องกังวลกับการเหยียบคลัทช์เปลี่ยนเกียร์ ซึ่งเกียร์อัตโนมัติจะคิดแทนให้หมด โดยจะมีทอร์คคอนเวอร์เตอร์ที่ซับซ้อนเป็นตัวส่งกำลังจากเครื่องยนต์

ในขณะที่การควบคุมการเปลี่ยนเกียร์จะกระทำโดยคอมพิวเตอร์ผ่านชุดเฟืองแพลนเนตตารี่ (Planetary Gear) ที่ประกอบไปด้วย 3 ส่วนหลักคือ Ring Gear, Sun Gear และ Planet Gear ซึ่งเฟืองแต่ละตัวจะทำหน้าที่เป็นตัวขับ ยึด หรือตามได้สำหรับเกียร์จังหวะต่าง ๆ ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนในทางเทคนิค

         แต่สำหรับผู้ขับขี่แล้ว P-R-N-D-L (หรือแล้วแต่ผู้ผลิต) เป็นอะไรที่เข้าใจง่ายกว่าเพียงแต่มันมาพร้อมกับค่าซ่อมบำรุงสูงกว่าเกียร์ธรรมดาแต่ก็ทนทานมากที่สุดในบรรดาเกียร์อัตโนมัติทั้งหมด โดยปัจจุบันเกียร์อัตโนมัติก้าวไปไกลถึงระดับ 9 สปีดเข้าไปแล้ว

 

เกียร์ CVT

แม้เกียร์ CVT หรือ Continuously Variable Transmission จะเป็นเกียร์อัตโนมัติแต่ก็มีหลักการที่ต่างจาก Planetary Gear โดยสิ้นเชิง และอันที่จริงเกียร์อัตโนมัติ CVT แบบพื้นฐานนั้นไม่มีเฟืองเกียร์แต่จะประกอบด้วยลูกรอก 2 ชุด (Pulleys) กับสายพาน (จะเป็นยางหรือโซ่ในรถบางรุ่นก็แล้วแต่) ซึ่งจะให้อัตราทดแบบแปรผันจึงไม่มีจังหวะเกียร์

ข้อดีคือไม่มีการกระตุกจากการเปลี่ยนเกียร์ (เพราะไม่มี) ชิ้นส่วนน้อย น้ำหนักเบาและประหยัดต้นทุน แต่ข้อเสียของเกียร์ CVT ที่มักเจอก็คือในเรื่องของความทนทานต่อแรงกระชาก เช่น จากการคิกดาวน์หนัก ๆ บ่อยครั้ง ก็อาจทำให้มีโอกาสเสียหายได้ง่ายกว่ารวมถึงการที่รถไม่มีอาการกระตุกเลยก็อาจเป็นอะไรที่จืดชืดไม่เร้าใจผู้ขับขี่บางคน

          ​ในประเทศไทยคุณก็อาจจะเจอข้อความโฆษณาที่ว่าเกียร์ CVT 7 สปีด หรืออะไรก็ตามแต่ เป็นเรื่องของการตลาดล้วน ๆ โดยใช้วิธีเทียบอัตราทดของลูกรอกกับเกียร์เฟือง

 

– เกียร์กึ่งอัตโนมัติ และ เกียร์คลัตช์คู่ DCT

เกียร์กึ่งอัตโนมัติ และ เกียร์คลัตช์คู่ DCT

เป็นรูปแบบเกียร์ที่อยู่ตรงกลางระหว่างเกียร์อัตโนมัติและเกียร์ธรรมดา ซึ่งเกียร์กึ่งอัตโนมัติ (Semi-Automatic) นี้จะใช้ลักษณะกลไกคล้ายเกียร์ธรรมดาแต่จะมีระบบนิวเมติก (Pneumatic) และแอคทูเอเตอร์ (Actuator) หรือวาล์วหัวขับมาช่วยในการเปลี่ยนเกียร์

ส่วนเกียร์คลัตช์คู่ (Dual-Clutch) จะมีชุดคลัตช์ 2 ชุด ชุดหนึ่งควบคุมเกียร์เลขคี่ในขณะที่อีกชุดควบคุมเกียร์เลขคู่เพื่อที่จะรอเปลี่ยนเกียร์ต่อไปเพื่อความรวดเร็ว โดยเกียร์ทั้ง 2 รูปแบบนี้โดยปกติแล้วจะมีทั้งโหมดอัตโนมัติหรือผู้ขับขี่เลือกเปลี่ยนเกียร์เองได้แบบเกียร์ธรรมดาผ่านแพดเดิลชิฟท์ที่พวงมาลัย

ทั้งเกียร์ Semi-Automatic และ DCT นี้ถือเป็นเกียร์ยุคใหม่ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มสมรรถนะของรถยนต์ด้วยการเปลี่ยนเกียร์ที่รวดเร็วกว่าเกียร์ธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเห็นเกียร์ทั้ง 2 รูปแบบนี้ในรถแข่งหรือรถสปอร์ตราคาแพงเนื่องจากมีต้นทุนสูงเพราะกลไกการทำงานค่อนข้างซับซ้อนรวมถึงค่าซ่อมบำรุงที่แพงกว่าด้วยเช่นกัน

แน่นอนว่าเกียร์แต่ละแบบล้วนมีทั้งข้อดีและเสียซึ่งถึงแม้บางครั้งเราจะเลือกไม่ได้แต่อย่างน้อยก็คงจะดีกว่าถ้าเราได้รู้จักมันมากขึ้น

แสดงความเห็น

comments