นักวิทย์เผยหลักฐาน ค้นพบดาวเคราะห์ดวงใหม่ในระบบสุริยะ

ปัจจุบันเทคโนโลยียิ่งพัฒนาไปไกลเท่าไหร่ มนุษย์เราก็สามารถค้นพบสิ่งใหม่ๆมากขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์ได้เผยหลักฐาน พบดาวเคราะห์ดวงใหม่ที่ซ่อนอยู่ขอบระบบสุริยะ ดวงใหญ่เกือบเท่าดาวเนปจูน

ดาวเคราะห์ดวงใหม่

เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2559 นิตยสาร Science เผยแพร่บทความการค้นพบที่น่าสนใจของ 2 นักวิทยาศาสตร์ คอนสแตนติน บาไทกิน และไมค์ บราวน์ จากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย (Caltech) สหรัฐอเมริกา ที่พบหลักฐานการมีอยู่ของสิ่งที่คาดว่าเป็น Planet X หรือดาวเคราะห์อีกดวงที่ซ่อนอยู่ในระบบสุริยะ โดยเป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดเกือบเท่าดาวเนปจูน อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ถึง 200 หน่วยดาราศาสตร์ หรือห่างกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ถึง 200 เท่า

ไมค์ บราวน์ เป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ค้นพบดาวเคราะห์แคระอีริส (Eris) เมื่อปี 2548 เขาได้ค้นคว้า-วิจัยด้านดาราศาสตร์มาโดยตลอด รวมถึงพยายามวิเคราะห์เจาะลึกเกี่ยวกับข้อกังขาในวงการดาราศาสตร์อย่างเรื่องของ Planet X ที่นักวิทยาศาสตร์หลายคนเชื่อกันว่าเป็นดาวเคราะห์อีกดวงในระบบสุริยะที่ยังหาไม่เจอ กระทั่งล่าสุด ไมค์ บราวน์ และคอนสแตนติน บาไทกิน ก็ได้พบว่ามีแรงดึงดูดลึกลับที่ส่งอิทธิพลอยู่ขอบระบบสุริยะจริง ๆ และทำให้วัตถุอวกาศแถบไคเปอร์ (เขตพ้นวงโคจรดาวเนปจูน) จำนวน 6 ดวง มีวงโคจรสอดคล้องกันได้อย่างน่าแปลกใจ

บราวน์และบาไทกินเผยว่า มีความเป็นไปได้แค่ 0.007% หรือแค่ 1 ใน 15,000 เท่านั้นที่วัตถุอวกาศแถบไคเปอร์ทั้ง 6 ดวงจะโคจรไปด้วยกันและสอดคล้องกันได้อย่างบังเอิญเช่นนั้น ดังนั้นมันจึงน่าจะมีวัตถุอวกาศขนาดใหญ่ที่ทำให้มันโคจรแบบนั้นได้ ซึ่งก็คือดาวเคราะห์อีกดวงที่ซ่อนอยู่ในระบบสุริยะ

แม้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะยังไม่สามารถสังเกตได้ผ่านกล้องโทรทรรศน์ใด ๆ แต่บราวน์และบาไทกินได้สร้างแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ขึ้นมา และคาดว่าสิ่งที่ส่งอิทธิพลต่อการโคจรของวัตถุอวกาศทั้ง 6 ดวงดังกล่าว เป็นดาวเคราะห์ก๊าซขนาดเกือบเท่าดาวเนปจูน มีมวลมากกว่าโลกราว 10 เท่า ส่วนการโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นการโคจรแบบเอียงไปข้างหนึ่ง ระยะการโคจรที่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดของดาวเคราะห์ดวงนี้อยู่ที่ประมาณ 200 หน่วยดาราศาสตร์ หรือไกลกว่าระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ 200 เท่า และไกลกว่าระยะห่างระหว่างดาวเนปจูนกับดวงอาทิตย์ 7 เท่า

อย่างไรก็ดีหากคำนวณระยะห่างเฉลี่ย ก็อยู่ที่ประมาณ 20 เท่าของระยะห่างระหว่างดาวเนปจูนกับดวงอาทิตย์ และดาวเคราะห์ที่ยังหาไม่พบดวงนี้ ใช้เวลาประมาณ 15,000 ปีในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ

ดาวเคราะห์ดวงใหม่

ทั้งนี้แม้ว่านี่จะไม่สามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้ว่าดาวเคราะห์ที่ซ่อนอยู่ดวงนี้ มีอยู่จริงแท้แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็นับว่าเป็นหลักฐานที่มีน้ำหนัก ซึ่งแสดงให้เห็นความเป็นไปได้ของการมีอยู่ของมันชิ้นแรก และก็จะเป็นแรงผลักดันให้นักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษาต่อยอดเพื่อค้นหาดาวลึกลับดวงนี้กันต่อไป

บราวน์เผยทิ้งท้ายว่า “สำหรับคนที่เซ็งกับการที่พลูโตไม่ได้ถูกจัดเป็นดาวเคราะห์อีกต่อไป คุณจะได้ตื่นเต้นที่ได้รู้ว่า มีดาวเคราะห์ที่แท้จริงอีกดวงที่รอให้เราหามันให้เจออยู่ ตอนนี้เรากำลังตามหามันและจะทำให้ระบบสุริยะกลับมามีดาวเคราะห์ 9 ดวงได้อีกครั้ง”

 

ภาพจาก Caltech
ที่มา Kapook

แสดงความเห็น

comments