อาการของโรคออทิสติก และวิธีดูแลเด็กออทิสติก ที่ผู้ปกครองควรรู้

 โรคออทิสติก เป็นหนึ่งในความบกพร่องทางสมองที่พบมากที่สุดในปัจจุบัน เรามาทำความรู้จักกับโรคนี้กันให้มากขึ้น พร้อมวิธีดูแลเด็กออทิสติกที่เอามาฝากกันในวันนี้เลยค่ะ

โรคออทิสติก เป็นโรคที่อยู่ในกลุ่ม พีดีดี (Pervasive Developmental Disorders : PDDs) หรือ ความบกพร่องของพัฒนาการแบบรอบด้าน แสดงอาการอย่างชัดเจนในวัยเด็ก มักพบในช่วง 2 ขวบปีแรก มีผลทำให้พัฒนาการทางด้านสังคมและภาษาบกพร่อง มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของสมองตั้งแต่กำเนิด โดยจะส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 3 ด้าน ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตอาการของเด็กออทิสติก ได้ดังนี้

 อาการออทิสติก

พัฒนาการด้านการเข้าสังคม

เด็กไม่มองหน้า ไม่สบตาขณะพูดด้วย ไม่เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ ไม่มีความสนใจร่วมกับคนอื่น ไม่แสดงอารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้า และไม่มีภาษาท่าทางเพื่อการสื่อสาร ชอบเล่นคนเดียวอยู่ในโลกส่วนตัว ปลีกวิเวกอยู่ตามลำพัง ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ปรับตัวเข้ากับผู้อื่นยาก

พัฒนาการด้านการสื่อสาร

เด็กพูดช้ากว่าวัย พูดซ้ำ ๆ ทวนคำ ทวนประโยคไปมา พูดภาษาแปลก ๆ ไม่มีความหมายที่คนทั่วไปจะเข้าใจได้ ส่งเสียงไม่เป็นภาษา ไม่สามารถใช้ภาษาท่าทางสื่อสารกับบุคคลอื่นได้ เช่น การพยักหน้า ส่ายหน้า หรือการแสดงสีหน้าอารมณ์ความรู้สึก

พัฒนาการด้านพฤติกรรม

ชอบเล่นซ้ำ ๆ มองซ้ำ ๆ ทำกิจกรรมเดิม ๆ เช่น ดูการ์ตูนเรื่องเดิม ๆ หรือนั่งจ้องอะไรเป็นเวลานาน ๆ ชอบเล่นตามลำพัง แต่เล่นของเล่นไม่เป็น มักเอามาเคาะ โยน ถือ ดม เอาเข้าปาก หรือเอามาเรียงเป็นแถว ปรับตัวยากต่อการเปลี่ยนแปลง มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากหรือน้อยเกินไป เช่น ไม่สามารถทนเสียงดังได้ หรือชอบทำให้เกิดเสียงดัง ๆ แล้วหัวเราะชอบใจ บางครั้งก็มีอาการทำร้ายร่างกายตัวเอง เป็นต้น

หากคุณพ่อคุณแม่สงสัยว่าลูกของตัวเองจะเป็นเด็กออทิสติกหรือไม่นั้น ให้หมั่นสังเกตพฤติกรรมและพัฒนาการของลูกอยู่เสมอตั้งแต่แรกคลอดจนถึงช่วงวัย 3 ขวบ และเมื่อพบว่าลูกมีพัฒนาการที่ผิดปกติทางด้านสังคมและภาษา เช่น มีพัฒนาการช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน หรือไม่มีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือคนรอบข้าง ควรนำเด็กไปพบแพทย์ทันทีเพื่อทำการวินิจฉัยและรีบรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย และถึงแม้ว่าโรคออทิสติกจะยังไม่มีวิธีการดูแลรักษาให้หายขาดได้ แต่เด็กออทิสติกสามารถรักษาได้ด้วยการส่งเสริมพัฒนาการและลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมให้ใกล้เคียงกับเด็กปกติ ให้เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้อย่างคนปกติทั่วไปมากที่สุดค่ะ

วิธีดูแลเด็กออทิสติก

การดูแลเด็กออทิสติก เป็นวิธีการดูแลและรักษาให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งยังช่วยให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นจนสามารถเรียนรู้ ปรับตัว และใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการเลี้ยงดูเด็กออทิสติกก็มีหลักการเหมือนกับการเลี้ยงเด็กทั่วไป แต่จะเน้นการกระตุ้นในจุดที่เป็นปัญหาพร้อมกับส่งเสริมและพัฒนาความสามารถเฉพาะตัวที่เด็กมี โดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรม และส่งเสริมพัฒนาการในทุก ๆ ด้าน ซึ่งในแต่ละช่วงวัยก็มีส่วนสำคัญที่ต้องเน้นแตกต่างกันไป ดังนี้

ช่วงวัยเด็ก – 5 ปีแรก

เด็กออทิสติกสามารถปรับตัวและถูกเลี้ยงดูให้มีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ แต่ก็ต้องได้รับกำลังใจและแรงผลักดันจากคุณพ่อคุณแม่ และคนในครอบครัวค่อนข้างมาก โดยในช่วงวัยเด็ก เป็นช่วงเวลาที่เขาสามารถเรียนรู้และปรับพฤติกรรมได้ ถ้าได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในด้านต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ได้แก่

1. พัฒนาทักษะด้านภาษา

ยิ่งเด็กออทิสติกได้ฝึกการสื่อสารได้เร็วเท่าไร จะทำให้เด็กเรียนรู้การใช้ภาษาได้เร็วเท่านั้น ทั้งยังช่วยลดพฤติกรรมก้าวร้าวที่เกิดจากการไม่สามารถสื่อสารความต้องการได้ โดยฝึกเมื่อเด็กเริ่มมีความเข้าใจ และมีความพร้อมในการสอนพูด อาจใช้เทคนิคเพื่อช่วยให้เด็กนึกคำตอบและสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ง่าย เช่น การให้พูดตาม การถาม การชี้ให้ดูแล้วพูดซ้ำ ๆ ช้า ๆ ว่าสิ่งนั้นคืออะไร เป็นใคร หรือกำลังทำอะไรอยู่ โดยใช้คำศัพท์ที่เป็นคำนามหรือคำกิริยาที่มองเห็นจับต้องได้ เช่น พ่อแม่ ต้นไม้ นก แมว รถ จาน กินข้าว อาบน้ำ นอน นั่ง ยืน เป็นต้น

2. พัฒนาทักษะด้านสังคม

หากเด็กออทิสติกไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เท่าที่ควร เขาจะเริ่มอยู่ในโลกส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจกลายเป็นปัญหารุนแรงได้ คุณพ่อคุณแม่จึงต้องพยายามกระตุ้น โดยให้ลูกอยู่ร่วมกับคนอื่น ๆ ในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือปู่ย่าตายาย ให้เข้าไปพูดคุยและเล่นกับลูกให้มากขึ้น ให้เขารู้จักสบตากับคนที่พูด ดึงเขาเข้ามาหา มาหอม มากอด หรือแสดงความรักต่าง ๆ จะช่วยสร้างสัมพันธ์อันดีในครอบครัว โดยทำซ้ำทุก ๆ วัน พร้อมกับการปรับพฤติกรรม ด้วยการฝึกฝนให้เข้าใจคำสั่งง่าย ๆ และทำตามได้ ฝึกฝนให้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับกิจกรรมที่ทำได้นาน ๆ ซึ่งหากเขาทำได้ ต้องมีการชมเชย หรือให้ของที่เขาชอบ เพื่อเป็นแรงเสริมให้เขาอยากทำสิ่งนั้นอีก แต่หากเขามีอาการดื้อ งอแง ก้าวร้าว ให้เพิกเฉยหรือเบี่ยงเบนไปในเรื่องอื่นที่เขาสนใจ

3. พัฒนาทักษะการดูแลตัวเอง

การสอนให้เด็กออทิสติกรู้จักช่วยเหลือตัวเองในชีวิตประจำวันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะช่วยพัฒนาให้เขาสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติเท่าคนทั่วไป โดยเริ่มจากเรื่องพื้นฐาน เช่น ทานอาหารเองได้โดยไม่ต้องมีคนป้อน ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา หรือรู้จักแสดงความต้องการเมื่ออยากเข้าห้องน้ำ ฝึกให้เขาเก็บของเล่นเข้าที่ เมื่อเขาทำได้ ให้ชมเชย ปรบมือ กอด หรือให้รางวัล เพื่อให้เขาเกิดความภูมิใจและอยากทำอีกในครั้งต่อไป

นอกจากนี้คุณพ่อคุณแม่ควรจัดสรรตารางเวลาและรูปแบบในการดำเนินชีวิตประจำวันที่ชัดเจน สม่ำเสมอ เช่น เวลาตื่นนอน เวลาเข้านอน เวลาทานข้าว เวลาไปโรงเรียน เป็นต้น เพื่อให้ลูกรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ควรเผื่อกรณีฉุกเฉินไว้ หากมีเหตุการณ์บางอย่างเปลี่ยนแปลงค่ะ

4. พัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว

เด็กออทิสติกบางคนอาจมีปัญหาพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหว เด็กอาจมีลักษณะเชื่องช้า ไม่กระฉับกระเฉง หยิบจับสิ่งของไม่ถนัด การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมัดเล็กยังไม่ค่อยดี โดยให้คุณพ่อคุณแม่เน้นพัฒนาตามลักษณะปัญหาที่เกิดขึ้น เช่น ลูกหยิบของหลุดมือบ่อย ๆ ให้ฝึกการออกแรงของกล้ามเนื้อนิ้วและมือด้วยการ ปั้นดินน้ำมัน บีบ ดึง ตัด ยกของต่าง ๆ ฝึกร้อยลูกปัด ฝึกระบายสีให้อยู่ในกรอบ รวมไปถึงการหยิบช้อนส้อมทานอาหารเอง ซึ่งหากทำสม่ำเสมอทุกวัน จะช่วยให้เขามีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ค่ะ

ช่วงวัยเรียน

เมื่อเด็กออทิสติกเริ่มเข้าสู่วัยเรียน และได้พบปะสังคม เขาก็จะมีพัฒนาการด้านภาษาและสังคมเพิ่มขึ้น สามารถเข้ากลุ่มกิจกรรมร่วมกับเพื่อนฝูง รู้จักการรอคอย รู้จักกฎ กติกาในการเล่นเกม รู้จักการแบ่งปัน ซึ่งเป็นพื้นฐานในการเข้าใจกติกาทางสังคมต่อไป

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ควรมีส่วนร่วมในการเรียนของลูกด้วย โดยร่วมมือกันระหว่างคุณครู มีการปรึกษาหารืออย่างต่อเนื่อง สอบถามว่าลูกมีพฤติกรรมหรือมีปัญหาอะไรในการเรียนบ้าง และอะไรที่เป็นตัวกระตุ้นปัญหา พร้อมแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันระหว่างที่บ้านและโรงเรียน เพื่อให้เกิดความเข้าใจในตัวเด็ก จะได้วางแผนฝึกฝนและแก้ปัญหาไปในทิศทางเดียวกัน และอาจขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากทีมแพทย์ที่ดูแลเด็กด้วย ก็จะช่วยให้ทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่นและช่วยให้ลูกมีพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ โดยใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรม อย่างการให้แรงเสริม ให้คำชมเชย ให้รางวัลแก่ลูก ก็จะเป็นการกระตุ้นให้ลูกอยากทำสิ่งนั้นต่อไปได้ค่ะ

ช่วงวัยรุ่น

เด็กออทิสติกในช่วงวัยรุ่น จะมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกายและอารมณ์อย่างมาก เขาจะเริ่มรับรู้และเข้าใจความแตกต่างของตัวเองกับเพื่อนฝูง คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมตัวให้ข้อมูลแก่ลูก และสอนให้เขาเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจ รวมไปถึงเรื่องความแตกต่างของแต่ละคน ทั้งเรื่องเพศ สภาพร่างกาย และพฤติกรรมอื่น ๆ เพื่อให้เด็กไม่รู้สึกตื่นเต้นตกใจ ซึ่งจะช่วยให้เขาเตรียมพร้อมและสามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงนั่นเองค่ะ

การดูแลเด็กออทิสติกนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินไปกว่าที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนจะทำได้ ขอแค่มีความอดทนและตั้งใจ ใช้หลาย ๆ วิธี และหลาย ๆ กิจกรรม ผสมผสานกันไปแบบบูรณาการ ช่วยกันดูแลร่วมกับคนในครอบครัว ด้วยวิธีที่เหมือนกับการเลี้ยงเด็กทั่วไป ให้ลูกได้รับอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเด็กเริ่มเรียนรู้ได้แล้ว ควรฝึกสอนเพิ่มเติมเกี่ยวกับพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ที่เขาบกพร่อง รวมไปถึงทักษะในการดำรงชีวิต เพื่อให้เขาสามารถดูแลตัวเองและใช้ชีวิตในอนาคตได้อย่างปกติ

ที่สำคัญคุณพ่อคุณแม่ต้องเข้มแข็ง อดทน และอย่ายอมแพ้ง่าย ๆ นะคะ การดูแลและฝึกฝนเด็กออทิสติกเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา แต่ว่าพวกเขาสามารถเติบโต และพัฒนาความสามารถของตัวเองได้ หากได้รับการสนับสนุนอย่างเหมาะสมที่เต็มเปี่ยมด้วยความรัก ความเข้าใจ และความหวังดีให้แก่เขา ซึ่งจะเป็นแรงผลักดันที่ช่วยให้เขาสามารถพัฒนาทักษะและศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้ไม่ยากเลยค่ะ

ข้อมูลจาก : webmd.com, helpguide.org

แสดงความเห็น

comments